เมนู

[822] โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของ
ตนเห็นได้ยาก เจ้านั่นแหละเสื่อมจากผัว
และชายชู้แล้ว ซบเซาแม่กว่าเราเสียอีก.
[823] แน่ะพระยาเนื้อชาติชัมพุกะ ท่านกล่าว
อย่างใด ข้อนี้ก็เป็นอย่างนั้น ฉันไปจากที่นี้
แล้ว จักเป็นหญิงอยู่ในอำนาจของผัว.
[824] ผู้ใดนำภาชนะดินไป ถึงผู้นั้นจะพึงนำ
ภาชนะสำริดไป บาปที่เจ้าทำไว้แล้วนั่นแหละ
เจ้าจะทำอย่างนั้นอีก.

จบ อรรถกถาจุลลธนุคคหชาดกที่ 4

อรรถกถาจุลลธนุคคหชาดกที่ 4


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ
ภิกษุผู้ถูกภรรยาเก่าประเล้าประโลม จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำ
เริ่มต้นว่า สพฺพํ ภณฺฑํ ดังนี้.
เมื่อพระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธออันใครทำให้กระสัน
อยากสึก. ครั้นเมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า ภรรยาเก่า พระเจ้าข้า พระ-
ศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ หญิงนี้กระทำความพินาศให้แก่เธอใน
บัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อน เธออาศัยหญิงนี้ถูกตัดศีรษะด้วย

ดาบ อันภิกษุทั้งหลายทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมา
สาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนคร
พาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นท้าวสักกะ ในกาลนั้น พราหมณ์มาณพ
ชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง เรียนศิลปศาสตร์ทั้งปวงในเมืองตักกศิลา
ได้บรรลุความสำเร็จในธนูกรรมวิชายิงธนู ได้เป็นผู้มีนามว่า จุลล-
ธนุคคหบัณฑิต. ครั้งนั้นอาจารย์ของจุลลธนุคคหบัณฑิตนั้นคิดว่า
มาณพนี้เรียนศิลปศาสตร์ได้เหมือนเรา จึงได้ให้ธิดาของตน. จุลล-
ธนุคคหบัณฑิตนั้นพานางเดินทางไปด้วยหวังใจว่า จักไปเมือง
พาราณสี. ในระหว่างทาง ช้างเชือกหนึ่งได้ทำภูมิประเทศแห่งหนึ่ง
ให้ปลอดคน. ใคร ๆ ไม่อาจขึ้นไปยังสถานที่นั้น. จุลลธนุคคหบัณฑิต
เมื่อคนทั้งหลายพากันห้ามอยู่ก็พาภรรยาขึ้นสู่ปากดง. ครั้งนั้น ช้าง
ได้ปรากฏขึ้นแก่จุลลธนุคคหบัณฑิตนั้น ในท่ามกลางดง เขาจึงเอา
ลูกศรยิงช้างนั้นที่กระพองลูกศรทะลุออกทางส่วนเบื้องหลัง ช้างได้ล้ม
ลง ณ ที่นั้นเอง. ธนุคคหบัณฑิตได้กระทำที่นั้นให้ปลอดภัย แล้วได้
ไปถึงดงอื่นข้างหน้า. แม้ในดงนั้นก็มีโจร 50 คน คอยปล้นคน
เดินทาง. ธนุคคหบัณฑิตนั้นอันคนทั้งหลายพากันห้ามอยู่ ก็ยังขึ้นไป
สู่ดงแม้นั้น. เขาได้ไปถึงสถานที่ตั้งของโจรเหล่านั้น ซึ่งฆ่าเนื้อแล้ว
ปิ้งเนื้อกินอยู่ ณ ที่ใกล้หนทาง. ครั้งนั้น โจรทั้งหลายเห็นธนุคคห
บัณฑิตนั้นมากับภรรยาผู้ประดับตกแต่งร่างกาย จึงทำความอุตสาหะว่า

จักจับธนุคคหบัณฑิตนั้น. หัวหน้าโจรเป็นผู้ฉลาดในลักษณะของ
บุรุษ, เขาแลดูธนุคคหบัณฑิตนั้นเท่านั้นก็รู้ว่า ผู้นี้เป็นอุดมบุรุษ จึง
ไม่ให้แม้โจรคนหนึ่งลุกขึ้น. ธนุคคหบัณฑิตส่งภรรยาไปยังสำนักของ
พวกโจรเหล่านั้นด้วยสั่งว่า เธอจงไปพูดว่า ท่านทั้งหลายจงให้เนื้อย่าง
ไม้หนึ่งแก่เราทั้งสองแล้วนำเนื้อมา. ภรรยานั้นได้ไปพูดว่า ได้ยินว่า
ท่านทั้งหลายจะให้เนื้อย่างไม้หนึ่ง. หัวหน้าโจรคิดว่าบุรุษผู้หาค่ามิได้
จึงให้เนื้อย่าง พวกโจรพูดกันว่า พวกเราจะกินเนื้อย่างสุก. จึงได้ให้
เนื้อย่างดิบไป. ธนุคคหบัณฑิตยกย่องลำพองตนจึงโกรธพวกโจรว่า
ให้เนื้อดิบแก่เรา พวกโจรก็โกรธว่า เจ้าคนนี้เท่านั้นเป็นผู้ชายคนเดียว
พวกเราเป็นผู้หญิงหรือ จึงพากันลุกฮือขึ้น. ธนุคคหบัณฑิตยิงโจร
49 คน ด้วยลูกศร 49 ลูกให้ล้มลง. ลูกศรไม่มียิงหัวหน้าโจร.
ได้ยินว่า ในกล่องลูกศรของเขา มีลูกศรอยู่ 50 ลูกพอดี บรรดา
ลูกศรเหล่านั้น เขายิงช้างเสียลูกหนึ่ง จึงยิงพวกโจรด้วยลูกศร ที่
เหลืออยู่ 49 ลูก แล้วทำให้หัวหน้าโจรล้มลง นั่งทับบนอกของ
หัวหน้าโจรนั้น คิดว่าจักตัดศีรษะของนายโจรนั้น จึงให้นำดาบมา
จากมือของภรรยา. ภรรยานั้นกระทำความรักในหัวหน้าโจรขึ้นใน
ทันใดนั้น จึงวางตัวดาบที่มือโจร วางฝักดาบที่มือของสามี นายโจร
จับถูกด้ามของตัวดาบจึงชักมีดออกตัดศีรษะของธนุคคหบัณฑิต. นาย
โจรนั้นครั้นฆ่าธนุคคหบัณฑิตแล้ว จึงพาเอาผู้หญิงไปได้ถามถึงชาติ
และโคตร. นางบอกว่า ดิฉันเป็นธิดาของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในเมือง
ตักกศิลา. นายโจรถามว่า ชายผู้นี้ได้เธอด้วยเหตุอะไร ? นางกล่าว

ว่า บิดาของดิฉันยินดีว่า นายธนุคคหะนี้ศึกษาศิลปะได้เหมือนกับเรา
จึงได้ให้แม้ดิฉันแก่นายธนุคคะนี้ ดิฉันนั้นมีความเสน่หาในท่าน จึง
ให้ฆ่าสามีที่ตระกูลให้แก่ตนเสีย. นายโจรเดินคิดไปว่าเบื้องต้น หญิงนี้
ให้ฆ่าสามีที่ตระกูลให้ก่อน ก็ครั้นเห็นคนอื่นอีกคนหนึ่งเข้า ก็จัก
กระทำอย่างนั้นนั่นแหละแม้กะเรา เราควรทิ้งหญิงนี้เสีย ครั้นใน
ระหว่างทางได้เห็นแม่น้ำน้อยสายหนึ่งมีพื้นตื้น มีน้ำเต็มมาชั่วคราว
จึงกล่าวว่า นางผู้เจริญจระเข้ในแม่น้ำนี้ดุร้าย พวกเราจะกระทำ
อย่างไร ? นางกล่าวว่า ข้าแต่สามี ท่านจงกระทำเครื่องอาภรณ์ภัณฑ์
ให้เป็นห่อของด้วยผ้าห่มของดิฉัน นำไปฝั่งโน้นแล้วจงกลับมาพาดิฉัน
ไป. นายโจรนั้นรับคำว่า ตกลงแล้วถือเอาเครื่องอาภรณ์ภัณฑ์ทั้งหมด
ลงสู่แม่น้ำ ทำที่เป็นว่ายข้ามไปถึงฝั่งโน้นแล้ว ได้ทิ้งนางไปเสีย. นาง
เห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า ข้าแต่สามี ทำไมท่านจึงทำทีเหมือนจะทิ้งดิฉัน
ไป เพราะเหตุไร ? ท่านจึงกระทำอย่างนี้ มาเถิด จงพาดิฉันไปด้วย
เมื่อจะเจรจากับนายโจรนั้น จึงกล่าวคาถา 1 คาถาว่า :-
ข้าแต่พราหมณ์ ท่านถือเอาห่อเครื่อง
ประดับทั้งหมดข้ามฝั่งไปแล้ว ขอท่านจงรีบ
กลับมา รีบนำดิฉันข้ามไปในบัดนี้ด้วย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลหุํ ขิปฺปํ ความว่า ท่านจงรีบ
กลับมา ท่านผู้เจริญขอท่านจงรีบนำฉันข้ามไปในบัดนี้ด้วย.
นายโจรได้ฟังดังนี้น ยืนอยู่ที่ฝั่งโน้นนั่นแหละ. จึงกล่าวคาถา
ที่ 2 ว่า :-

แน่ะนางผู้เจริญ ท่านนับถือเราผู้อันท่าน
ไม่เคยเชยชิด ยิ่งเสียกว่าสามีผู้ที่เคยเชยชิด
มานาน นับถือเราผู้ไม่ใช่ผัว ยิ่งเสียกว่าผัว
นางผู้เจริญจะพึงนับถือผู้อื่นยิ่งกว่าเราอีก เรา
จักไปจากที่นี้ให้ไกลลิบ.

คาถานั้น มีเนื้อความดังกล่าวในหนหลังแล.
ส่วนนายโจรกล่าวว่า เราจักไปจากที่แม้นี้ให้ไกลลิบ ท่านจง
อยู่เถิด เมื่อนางร่ำร้องอยู่นั่นแล พาเอาสิ่งของเครื่องประดับหนีไป.
ลำดับนั้น หญิงพาลนั้นถึงความพินาศฉิบหายเห็นปานนี้ เพราะความ
อยากได้เกินไป จึงเป็นคนไร้ที่พึ่งพา ได้เข้าไปยังกอตะไคร่น้ำกอหนึ่ง
ในที่ไม่ไกล นั่งร้องไห้อยู่.
ขณะนั้น ท้าวสักกะทรงตรวจดูโลกอยู่ ทรงเห็นนางผู้ถูก
ความอยากได้เกินไปครอบงำผู้เสื่อมจากสามีและโจร กำลังร้องไห้อยู่
ทรงดำริว่า จักข่มหญิงนี้ให้ได้อายแล้วจักกลับมา จึงทรงพาสารถีมาตลี
และปัญจสิขเทพบุตร เสด็จมา ณ ที่นั้น ประทับยืนที่ฝั่งแม่น้ำแล้ว
ทรงรับสั่งว่า ดูก่อนมาตลี เธอจงเป็นปลา ดูก่อนปัญจสิขะ เธอจงเป็น
นก ส่วนเราจักเป็นสุนัขจิ้งจอกดาบชิ้นเนื้อไปยังที่ตรงหน้าของนาง
เมื่อเราไปที่นั้น เธอจงโดดขึ้นจากน้ำตกลงตรงหน้าเรา เมื่อเป็นเช่น
นั้น เราจักทิ้งชิ้นเนื้อที่คาบเสีย แล้ววิ่งไปจะงับปลา ขณะนั้น ตัวท่าน
ปัญจสิขะ ที่แปลงเป็นนก จงโฉบเอาชิ้นเนื้อนั้นบินไปในอากาศ

ตัวท่านมาตลี ที่แปลงเป็นปลา จงโดดลงไปในน้ำ เทพบุตรทั้งสอง
รับเทวบัญชาว่า ดีละ ข้าแต่เทวะ. มาตลีสารถีได้แปลงเป็นปลา
ปัญจสิขเทพบุตรได้แปลงเป็นนก. ท้าวสักกะแปลงเป็นสุนัขจิ้งจอก
คาบชิ้นเนื้อไปยังที่ตรงหน้าของนาง. ปลาโดดขึ้นจากน้ำตกลงตรงหน้า
สุนัขจิ้งจอก. สุนัขจิ้งจอกทั้งชิ้นเนื้อที่คาบแล้ววิ่งไปเพื่อจะเอาปลา.
ปลากระโดดไปตกลงในน้ำ นกโฉบเอาชิ้นเนื้อบินไปในอากาศ. สุนัข-
จิ้งจอกไม่ได้ทั้งสองอย่าง มีน้ำนองด้วยน้ำตา หมอบดูกอตะไคร้น้ำ
อยู่. นางเห็นดังนั้นคิดว่า สุนัขจิ้งจอกนี้ถูกความหยากเกินไปครอบงำ
ไม่ได้ทั้งเนื้อและปลา จึงหัวเราะลั่นประดุจทุบหม้อให้แตกฉะนั้น.
สุนับจิ้งจอกได้ฟังเสียงหัวเราะนั้น จึงกล่าวคาถาที่ 3 ว่า :-
ใครนี่มาทำการหัวเราะอยู่ที่กอตะไคร่น้ำ
ในที่นี้ก็ไม่มีการฟ้อนรำ ขับร้องหรือการดีดสี
ตีเป่า แน่ะนางผู้มีตะโพกอันผึ่งผาย ทำไม
เจ้าจึงมาหัวเราะในเวลาที่ควรจะร้องไห้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กายํ แยกออกเป็น กา อยํ
แปลว่า ใครนี้ บทว่า เอฬคณิคุมฺเพ ได้แก่ ที่สุมทุมพุ่มไม้ การ
หัวเราะดังจนเห็นฟัน ท่านเรียกว่า อหุหาสิยะ. สุนัขจิ้งจอกถามว่า
ใครนี่มาทำการหัวเราะลั่นอยู่ในพุ่มไม้นั้น. ด้วยบทว่า นยิธ นจฺจํ วา
นี้ ท่านแสดงว่า ในที่นี้ การฟ้อนรำของใคร ๆ ผู้ฟ้อนรำอยู่ การ
ขับร้องของใคร ๆ ผู้ขับร้องอยู่ หรือเครื่องดุริยางค์ที่บรรเลงด้วยมือ
ซึ่งจัดไว้ดีแล้วของใคร ๆ ผู้กระทำมือให้ตั้งได้ที่ดีแล้วบรรเลงอยู่ ก็ไม่มี

ท่านเห็นสิ่งใดจึงหัวเราะ. บทว่า อนมฺหิกาเล แปลว่า ในกาลเป็น
ที่ร้องไห้. บทว่า สุสฺโสณิ แปลว่า ผู้มีตะโพกงาม. บทว่า กินฺนุ
ชคฺฆสิ
ความว่า เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงไม่ร้องไห้ในกาลที่ควรจะ
ร้องไห้ กลับหัวเราะเสียงลั่น. สุนัขจิ้งจอกเมื่อจะสรรเสริญนางร้อง
เรียกว่า โสภเน แปลว่า แน่ะนางงาม.
นางได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ 4 ว่า :-
แน่ะสุนัขจิ้งจอกพาลผู้โง่เขลาชาติชัม-
พุกะ เจ้าเป็นสัตว์มีปัญญาน้อย เสื่อมจาก
ปลาและชิ้นเนื้อ ซบเซาอยู่เหมือนคนกำพร้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชินฺโน ได้แก่ เป็นผู้ถึงความเสื่อม
บทว่า เปสิญฺจ ได้แก่ ชิ้นเนื้อ. บทว่า กปโณ วิย ฌายสิ ความว่า
ท่านซบเซา คือ เศร้าโศก เสียใจ เหมือนคนกำพร้าแพ้ห่อทรัพย์
ตั้งพันฉะนั้น.
ลำดับนั้น สุนัขจิ้งจอกจึงกล่าวคาถาที่ 5 ว่า :-
โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษ
ของตนเห็นได้ยาก เจ้านั่นแหละเสื่อมจาก
ผัวและชายชู้ ซบเซาแม้กว่าเราเสียอีก.

บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า มมฺปิ ตฺวญฺเญว ฌายสิ
นี้ พระมหาสัตว์เมื่อจะให้นางละอายแล้วถึงประการอันผิดแผกจึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ดูก่อนนางผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก เราจักไม่ให้เหยื่อของ

เราก่อน แต่เจ้าถูกความหยากเกินไปครอบงำ มีจิตปฏิพันธ์ในโจรที่
เห็นชั่วครู่ เสื่อมจากชายชู้นั้นและจากผัวที่ตระกูลแต่งให้ ว่าโดย
เปรียบเทียบกะเราแล้ว เจ้าเป็นผู้กำพร้ากว่าร้อยเท่าพันเท่า ซบเซา
ร้องไห้ ร่ำไรอยู่.
นางได้ฟังคำของสุนัขจิ้งจอกนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาว่า :-
แน่ะพระยาเนื้อชาติชัมพุกะ ท่านกล่าว
อย่างใด ข้อนี้ก็เป็นอย่างนั้น ฉันไปจากที่นี้
แล้ว จักเป็นหญิงอยู่ในอำนาจของผัวแน่
นอน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นูน เป็นนิบาตใช้ในอรรถว่า
แน่นอน. นางกล่าวว่า ฉันไปจากนี้แล้วได้ผัวใหม่ จักอยู่ในอำนาจ
คือเป็นไปในอำนาจของผัวนั้น โดยแน่นอนทีเดียว.
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชครั้นทรงสดับถ้อยคำของนางผู้ทุศีล
ไร้อาจาระจึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า :-
ผู้ใดนำภาชนะดินไป แม้ภาชนะสำริด
ผู้นั้นก็จะต้องนำไป บาปที่เจ้าทำไว้นั่นแหละ
เจ้าจะทำอย่างนั้นอีก.

คำที่เป็นคาถานั้น มีความหมายว่า ดูก่อนนางผู้อาจาระ เจ้า
พูดอะไร ผู้ใดนำภาชนะดินไปได้ แม้ภาชนะสำริดชนิดภาชนะทอง

และภาชนะเงินเป็นต้น ผู้นั้นก็จะนำเอาไปเหมือนกัน ก็บาปนี้เจ้าทำ
ไว้นั่นแหละ ใคร ๆ ไม่อาจชำระสะสางให้แก่เจ้า เจ้านั้นจักกระทำ
อย่างนี้อีกแน่นอน.
ท้าวสักกะนั้น ครั้นทรงทำนางให้ได้อายถึงประการอันแปลก
อย่างนี้แล้ว ได้เสด็จไปยังสถานที่ของพระองค์ทีเดียว.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรง
ประกาศสัจจะแล้วทรงประชุมชาดก. ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้กระสัน
จะสึกดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. ธนุคคหบัณฑิตในครั้งนั้น ได้มาเป็น
ภิกษุผู้กระสันจะสึก หญิงนั้นในครั้งนั้น ได้มาเป็นภรรยาเก่า ส่วน
ท้าวสักกเทวราชในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาจุลลธนุคคหชาดกที่ 4

5. กโปตกชาดก


ว่าด้วยโภคะของมนุษย์


[825] บัดนี้ เราเป็นสุข ไม่มีโรค นกพิราบ
ผู้เหมือนหนามในหทัยบินไปแล้ว บัดนี้ เรา
จักกระทำความยินดีแห่งหทัย เพราะเหตุว่า
ชิ้นเนื้อและแกงจะทำให้เราเกิดกำลัง.
[826] นกยางอะไรนี่มีหงอน ขี้ขโมย เป็น
ปู่นก โลดเต้นอยู่ แน่ะนกยาง ท่านจง
ออกมีข้างนอกเสีย กาผู้เป็นสหายของเรา
ดุร้าย.
[827] ท่านได้เห็นเรามีขนปีก อันพ่อครัวถอน
แล้วทาด้วยน้ำข้าวเช่นนี้ ไม่ควรจะมาหัวเราะ
เยาะเลย.
[828] ท่านอาบดีแล้ว ลูบไล้ดีแล้ว เอิบอิ่ม
ไปด้วยข้าวแลน้ำ และมีแก้วไพฑูรย์อยู่ที่คอ
ได้ไปกชังคละประเทศมาหรือ.
[829] เราจะเป็นมิตรหรือมิใช่มิตรของท่านก็
ตาม ท่านอย่าได้กล่าวว่า ท่านได้ไปยังกชัง-